การเกษตร หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน วิถีพอเพียงของอาชีพชาวนา ตามปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำริชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า 30 ปี ประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความ รอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี
อย่างเช่นจังหวัดสุพรรณบุรี ที่ได้มีศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตและจิตวิญญานชาวนาไทย - นาเฮียใช้ ที่ได้เปิดเป็นแหล่งเรียนรู้วีถีชีวิตการทำนาของคนไทยตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน ด้วยอาชีพที่เกี่ยวข้องกับข้าวและชาวนา ที่มีทั้งปัญหาและอุปสรรค โดยเป็นที่มาของความคิดที่จะสร้างสถานที่แห่งนี้เพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาหาความรู้การทำนาที่เหมาะสมกับสภาวะปัจจุบัน สามารถลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เพื่อให้ชาวนาประสบความสำเร็จในอาชีพ ทำนาอย่างมีเกียรติ อีกทั้งผู้ที่สนใจยังได้เรียนรู้วิถีชีวิตของบรรพบุรุษไทยในอดีต ทั้งหมดนี้จะทำให้ผู้เข้าเยี่ยมชม เข้าใจถึงความเป็นไทยอย่างแท้จริง จึงเป็นที่มาของชื่อ “ศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตและจิตวิญญานชาวนาไทย”
ภายในศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ เราจะได้พบวิถีชีวิตของชาวนาในอดีต และแหล่งเรียนรู้หลายจุด ประกอบด้วย
- เรือนศูนย์รวมดวงใจไทยทั้งชาติ เรือนแห่งคุณค่าจากความตั้งใจในการแสดงความจงรักภักดีต่อพ่อหลวงของแผ่นดิน เรือนหลังนี้ได้สร้างสรรค์รูปแบบที่มีความโดดเด่นงดงามเป็นพิเศษ ภายในมีการจัดแสดงพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครั้งเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ พระบรมฉายาลักษณ์ในพระราชกรณียกิจต่างๆ จัดแสดงพระบรมรูป และพระบรม สาทิสลักษณ์ราชวงศ์จักรี ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 9 และนอกจากนั้น ยังมีรูปบุคคลสำคัญๆที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการพัฒนาวงการข้าวไทย การสร้างศูนย์การเรียนรู้วิถีชีวิตและจิตวิญญาณชาวนาไทย ทั้งข้าราชการและประชาชนซึ่งเป็นบุคคลสำคัญยิ่งเรือนหลังนี้ คือเรือนแห่งคุณค่าทางจิตใจ
- แปลงนาสาธิต การสาธิตชนิดพันธุ์ข้าวนาปรังทุกชนิดที่นิยมปลูกในปัจจุบัน สาธิตการอนุรักษ์การพัฒนาพันธุ์ข้าว เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้เยี่ยมชม และชาวนาได้มีความรู้ในการเลือกพันธุ์ข้าวได้อย่างเหมาะสม โดยแปลงนาสาธิตนี้จะทำการปักดำทุกวันที่ 1 ของเดือน ด้วยกล้าเพียงต้นเดียว ต่อ 1 กอ เพื่อให้เห็นความสามารถในการแตกกอของต้นข้าว และ ให้ชาวนาได้ศึกษาในทุกระยะการเติบโตของข้าว
- เรือนวิถีชีวิตชาวนาไทยในอดีต การก่อสร้างเรือนไทยด้วยความประณีตวิจิตรบรรจง การออกแบบที่คงเอกลักษณ์ความเป็นไทย ด้วยรูปทรงประกอบด้วยเรือนไทย 3 หลัง คือ เรือนไทยหลังใหญ่ เรือนลูกซ้าย เรือนลูกขวา และครัวไฟ อันเป็นสถานที่ประกอบอาหารในอดีต เรือนวิถีชีวิตชาวนาไทยในอดีต เป็นเรือนไทยยกพื้นสูง ใต้ถุนเป็นสถานที่จัดแสดงอุปกรณ์เครื่องใช้ในอดีต เช่น อุปกรณ์หีบอ้อย ซึ่งรวบรวมไว้หลายแบบ แสดงถึงภูมิปัญญาไทยในการออกแบบ
- เรือนพระแม่โพสพ องค์พระแม่โพสพทำมาจากไม้สักผ่านฝีมือการแกะสลักอย่างประณีตงดงาม เป็นองค์พระแม่โพสพประคองรวงข้าวอันเป็นการสื่อความหมายถึงการทะนุถนอมประดุจ แม่ประคองลูกอย่างอบอุ่น ภายในเรือนยังมีรูปหล่อพระแม่โพสพในยุคต่างๆตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระแม่โพสพ ที่หล่อในปี 2500 โดยได้จัดพิธีพุทธาภิเษกที่ท้องสนามหลวง โดยเรียกองค์พระแม่โพสพในยุคนี้ว่า “รุ่น 25 ศตวรรษ” จัดแสดงพระแม่โพสพและพิธีกรรมต่างๆ ครั้งในอดีตในช่วงการทำนา เพื่อให้ชาวนาและ คนรุ่นหลังเข้าใจในวัฒนธรรมที่ได้สืบต่อกันมา และอนุรักษ์มิให้สูญหา
- ยุ้งเก็บข้าว ที่จำลองแบบจากอดีตอย่างครบถ้วน นอกจากนี้ ได้มีการจัดแสดงอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ เช่น เครื่องมือในการทำนา เครื่องมือในการดักจับปลา และเครื่องมือ ในการทำงานไม้ รวมทั้งคอกควายซึ่งถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญอีก ส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชาวนาไทยแต่ดั้งเดิม
- เรือนหนังสือพระราชกรณียกิจและเรือนหนังสือข้าว ก่อสร้างเป็นเรือนไทยทรงปั้นหยา จำลองรูปแบบให้เหมือนโรงเรียนในสมัยอดีต ภายในเรือนเก็บรวบรวมหนังสือพระราชกรณีย กิจตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หนังสือข้าว และองค์ความรู้ต่างๆ ที่สามารถค้นคว้าได้จากแหล่งเรียนรู้แห่งนี้
- หอเตือนภัยชาวนา ก่อสร้างเป็นหอคอยสูง 3 ชั้น ความสูง 14.5 เมตร ก่อสร้างด้วยไม้ เนื้อแข็ง ออกแบบด้วยความประณีตเป็นเอกลักษณ์ มีความมั่นคงแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักผู้เข้าชมจำนวนมากได้อย่างปลอดภัย และยังเป็นจุดชมทัศนียภาพที่สวยงามจุดหนึ่ง ผู้เข้าชม สามารถมองทัศนียภาพรอบๆได้อย่างงดงาม
- ร้านโชห่วย หรือร้านขายของในอดีต เป็นการจำลองรูปแบบของร้านค้าในอดีตซึ่งได้เก็บรวบรวมส่วนประกอบต่างๆของร้านค้าในอดีต ไม่ว่าจะเป็นชั้นวางสินค้า โต๊ะและ เก้าอี้ รวมทั้งสินค้าที่เคยจำหน่าย ในครั้งอดีตซึ่งใช้ในชีวิตประจำวัน เช่นลอตเตอรี่เก่าสมัยก่อน นอกจากนี้ ยังมีห้องประชุม สำหรับจัดการบรรยาย ความเป็นมาของ ศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตและจิตวิญญานชาวนาไทย-นาเฮียใช้ โดยจะมีวิทยากร บรรยายให้ผู้สนใจที่มาเข้าเยี่ยมดูงานเป็นหมู่คณะ โดยจะเริ่มจากการจำลองโรงหนังในอดีต ให้ผ็ที่เข้ามาเที่ยวชม ได้ฟังประวัติความเป็นมา จากนั้น ก็จะพาเที่ยวชม ส่วนงานต่างๆ ตั้งแต่การผลิตต้นกล้าในแปลงนาข้าวที่ปลูกอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย และเที่ยวชมตามจุดต่างๆตามอัธยาศัย
สำหรับใครที่ชื่นชอบ ก๋วยเตี๋ยวรสเด็ด และเครื่องดื่มภายในร้านกาแฟไว้คอยบริการสำรับผู้ที่มาเที่ยวชมงานด้วย หากใครไปเที่ยวจังหวัดสุพรรณบุรี หลังจากแวะไปไหว้หลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ แล้วก็วิ่งตรงมาอีกประมาณ 5 กิโลเมตร จะเห็นบ้านเรือนไทย ทรงสวยงาม เนื้อที่กว้างขวาง สามารถแวะเข้ามาเที่ยวชมได้โดยไม่คิดเสียค่าใช้จ่าย โทร : 035-446-955
ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : travel.thaiza.com
เพิ่มเติม
ความคิดเห็นทั้งหมด (0)